ความเหงาของปัจเจกชนท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแสงสีแต่ไร้ซึ่งมิตรสหาย, ควันบุหรี่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศราวกับมันกำลังเต้นรำเคล้าคลอดนตรีแจ๊สที่บรรเลงเป็นฉากหลัง, บนโต๊ะมีเครื่องดื่มสีอำพันในแก้วที่น้ำแข็งกำลังละลายอย่างช้าๆ ส่วนตรงหน้าคือคู่สนทนาที่เงียบงัน…

นี่คือบรรยากาศที่นักอ่านทุกคนจะต้องนึกถึงเมื่อพูดชื่อ “ฮารุกิ มุราคามิ” ออกมา ถ้าโลกภาพยนตร์มี “หว่องกาไว” เป็นศาสดาแห่งความเปลี่ยวเหงา โลกหนังสือก็มีนักเขียนชาวญี่ปุ่นวัย 70 คนนี้นี่แหละที่โดดเด่นไม่แพ้กัน

ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้ที่มุราคามิถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ “การออกกำลังกาย” นั้นดูเป็นเรื่องห่างไกลจนดูไม่มีทางเวียนมาบรรจบกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่น่าเชื่อและหลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ ผู้ชายคนนี้คือนักออกกำลังกายตัวจริง โดยเฉพาะการวิ่งที่เขาหลงรักมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับนักเขียนชื่อดังคนนี้ที่เมื่อก่อนชีวิตเต็มไปด้วยควันบุหรี่, ความมึนเมา, และดนตรีแจ๊ส แต่ตอนนี้อุปกรณ์ประจำตัวที่ขาดไม่ได้กลับเป็นรองเท้าวิ่ง…ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ก่อนเริ่มออกวิ่ง

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายยุค 70’s

ฮารุกิ มุราคามิ ยังไม่ได้เป็นนักเขียนชื่อดัง ไม่สิ…เขายังไม่ได้เริ่มต้นเขียนหนังสือเลยด้วยซ้ำ ในช่วงเวลานั้นมุราคามิในวัยยี่สิบปลาย ๆ เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาได้ไม่นาน หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเจ้าของบาร์แจ๊สเล็ก ๆ ใจกลางกรุงโตเกียว ถึงจะไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย แต่ก็มีลูกค้าประจำแวะเวียนมาไม่ขาดสายในแต่ละค่ำคืน

ถ้ามองจากมุมมองบุคคลภายนอก นี่คืองานในฝัน โดยเฉพาะกับมุราคามิผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊ส การได้อยู่ท่ามกลางเสียงเพลงที่ชื่นชอบทุกค่ำคืน ได้ดื่มด่ำกับเครื่องดื่มแก้วโปรด มีบทสนทนาท่ามกลางกลุ่มควัน น่าจะทำให้เขามีความสุข

ใช่ ในช่วงแรกก็เป็นแบบนั้นแหละ แต่เมื่อมุราคามิทำธุรกิจนี้ติดต่อกันหลายปีเขาก็เริ่มค้นพบความเจ็บปวดของวิถีชีวิตแบบนี้

โดยธรรมชาติมุราคามิไม่ใช่คนช่างจ้อ ตรงกันข้ามเขาเป็นปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองภายใต้ความสงบคือความสุขของเขา แต่การเป็นเจ้าของบาร์นั้นไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เขาต้องเป็นมิตรพร้อมที่จะพูดคุยกับลูกค้าทุกคน นอกจากนั้นอาชีพนี้ยังทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด มุราคามิดื่มหนักและสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 60 มวน

หลังจากนั้นไม่กี่ปี มุราคามิก็เริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มแรก “Hear the Wind Sing” และมันก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เข้าชิงรางวัล “อาคุตาวาระ” ถือเป็นรางวัลใหญ่ในวงการหนังสือญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามถึงจะพอเป็นนักเขียนที่มีชื่อบ้างแล้วแต่มุราคามิก็ยังเปิดกิจการบาร์อยู่ ซึ่งการใช้ชีวิตแบบนี้ยิ่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาเข้าไปอีก มุราคามิใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน เพื่อเขียนหนังสือ และอีกหลายชั่วโมงในการดูแลบาร์ ถึงแม้คนรอบตัวจะเสนอเขาว่า

“ทำไมไม่จ้างคนอื่นมาดูแลกิจการให้ละ ส่วนนายก็เขียนหนังสือไป”

“ผมเป็นคนประเภทที่ต้องเต็มที่กับทุกอย่างที่ทำ ถ้าผิดพลาดไปจะได้ไม่เสียใจ” นี่คือคำตอบของมุราคามิ

เมื่อวัยย่างเข้าสู่เลขสาม มุราคามิก็ออกหนังสือเล่มที่สองของตัวเอง “Pinball, 1973” และเป็นเวลาเดียวกันกับที่เขาตัดสินใจขายกิจการบาร์แจ๊สของตัวเอง มุราคามิตัดสินใจมุงหน้าสู่ถนนสายนักเขียนเต็มตัวท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรอบข้าง เพราะในขณะนั้นถึงจะพอมีชื่ออยู่บ้าง แต่กิจการบาร์ก็ทำรายได้เข้ากระเป๋ามุราคามิมากกว่างานเขียน

“ถ้ามันไม่รุ่งเราค่อยกลับมาเปิดอีกครั้งก็ได้ ผมยังหนุ่มและมีเวลาให้เริ่มต้นใหม่อยู่ แต่ตอนนี้ผมต้องการเวลาว่างสักสองปีให้ผมเต็มที่กับงานเขียนของตัวเองจริง ๆ“ มุราคามิอธิบายให้ภรรยาเขาเข้าใจ

มุราคามิทำทุกอย่างตามที่ตัวเองตั้งใจ เขาเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในญี่ปุ่นเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลมาเขียนหนังสือเล่มใหม่ ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไป มุราคามิยังคงดื่มหนัก สูบบุหรี่วันละ 60 มวน และนั่งทำงานที่โต๊ะวันละหลายชั่วโมงเหมือนเดิม จนเขาเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นจนรู้สึกลงพุง นอกจากนั้นผิวของเขาก็เริ่มเหลืองจากพิษบุหรี่

ในช่วงเวลาที่กำลังเขียน “A Wild Sheep Chase” นิยายเล่มที่สาม และอายุย่างเข้า 33 ปี มุราคามิก็ตัดสินใจลุกขึ้นจากโต๊ะไปทำอะไรบางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล…

ความเจ็บปวดที่สวยงามบนก้าววิ่ง

ใช่ เดาไม่ยากหรอก มุราคามิเริ่มต้นออกวิ่งครั้งแรกในวัย 33 โดยที่ก่อนหน้านั้นเขาแทบไม่เคยเข้าใกล้การออกกำลังกายเลย


“การวิ่งนั้นมีข้อดีมากมาย อย่างแรกคือทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง คุณไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยสอน และนอกจากนั้นคุณสามารถวิ่งที่ไหนก็ได้ตามที่ใจต้องการ ขอเพียงแค่มีรองเท้าวิ่งหนึ่งคู่ก็เพียงพอแล้ว”

“อีกอย่างคือการเล่นกีฬาเป็นทีมไม่เหมาะกับตัวผม อย่างที่บอก ผมชอบใช้เวลากับตัวเอง ซึ่งการวิ่งคือช่วงเวลาที่สามารถอยู่กับตัวเองได้เต็มที่”

เพื่อจะกลายเป็นนักเขียนนิยายที่อายุยืนยาว มุราคามิตัดสินใจที่จะจริงจังกับรูปแบบชีวิตใหม่ของตัวเอง เขาย้ายออกจากเมืองใหญ่มาใช้ชีวิตอยู่ในย่านชนบท เมืองนาราชิโนะ จังหวัดชิบะ มันคือสถานที่ที่เงียบสงบเหมาะกับการปลีกวิเวกเพื่อเขียนหนังสือและวิ่งอย่างเหมาะเจาะ

ในตอนนี้มุราคามิกำลังมีความสุขกับชีวิตที่ตัวเองเลือก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ สำหรับผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่กับการบั่นทอนสุขภาพมาทั้งชีวิต ในช่วงเริ่มต้นออกกำลังกาย ความทรมานคือราคาที่ต้องจ่าย

“ในช่วงแรกที่ผมเริ่มวิ่ง มันไม่ได้ง่ายเลย ผมเหนื่อยมาก เหนื่อยจนร่างกายสั่น มันเจ็บปวดไปหมด”


แต่เมื่อยิ่งวิ่งยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง มุราคามิทำเวลาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ทรมานเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้นเขายังเลิกบุหรี่ได้เพราะการวิ่ง มุราคามิรู้ดีว่าเขาไม่สามารถวิ่งได้ดีถ้ายังสูบบุหรี่อยู่ และถ้าต้องเลือกหนึ่งอย่าง เขาก็เลือกสิ่งที่ดีกับตัวเอง

“ไม่ว่าจะเป็นวันที่ร้อนอบอ้าว ฝนตก หรือหนาวขนาดไหน ผมก็จะบังคับตัวเองให้ออกไปวิ่ง เพราะถ้าเราถอดใจยอมแพ้ในวันแรก วันต่อ ๆ ไปเราก็จะทำแบบนี้อีก”

“ถ้าวันไหนผมขี้เกียจออกไป ผมจะคิดว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนแล้วที่ได้เป็นนักเขียนนิยาย ได้บริหารเวลาตามที่ใจตัวเองต้องการ กับแค่การออกไปวิ่งแค่นี้ทำไม่ได้เหรอไง” มุราคามิเผยถึงเคล็ดลับที่ช่วยผลักดันให้เขาออกไปวิ่งในทุก ๆ วันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

จากชายหนุ่มเจ้าสำราญ รายล้อมด้วยอบายมุข และเข้านอนเมื่อฟ้าสว่าง การวิ่งเปลี่ยนให้มุราคามิเป็นอีกคนไปโดยสิ้นเชิง เขากลายเป็นคนเข้านอนเมื่อฟ้ามืด ตื่นนอนเมื่อฟ้าสว่าง ใช้ชีวิตแบบนี้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ผลลัพธ์ที่ได้คือคือร่างกายที่แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันแรกที่มุราคามิเริ่มวิ่ง ระยะทางเพียง 5 กิโลเมตรก็แสนสาหัสสำหรับเขาแล้ว แต่ตอนนี้เขากลายเป็น “นักเขียนขาประจำมาราธอน” เพราะไม่ว่าจะบอสตันมาราธอน, นิวยอร์กมาราธอน และอีกหลายงานมาราธอนทั่วโลก เขาก็พิชิตมาแล้วแทบทั้งหมด


“เวลาในการวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดที่ผมทำได้คือ 3 ชั่วโมง 27 นาที ในงานนิวยอร์กมาราธอนเมื่อปี 1991 นั่นน่าจะเป็นช่วงที่ร่างกายผมพร้อมที่สุด ถึงแม้ตอนนี้เวลาที่ผมทำได้จะช้าลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น”

“ถึงการใช้ชีวิตแบบนี้จะทำให้ผมตัดความสัมพันธ์กับผู้คนในยามค่ำคืนไปโดยสิ้นเชิง และมันอาจจะดูไม่เหมือนกับสิ่งที่ผมเขียนออกมา แต่ผมเชื่อว่านักอ่านของผมจะยอมรับได้ไม่ว่าผมจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็ตาม”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมาเกือบสี่ทศวรรษ มุราคามิในวัย 70 ปี ยังคงมีร่างกายแข็งแรงและออกวิ่งสัปดาห์ละ 6 วัน ไม่แน่ว่าถ้าเขาไม่ตัดสินใจเริ่มต้นวิ่งในตอนที่อายุ 33 ในตอนนี้ก็อาจไม่มีผลงานของเขาให้นักอ่านทั่วโลกได้ชื่นชม สิ่งที่เขาได้รับจากการวิ่ง คือ สุขภาพร่างกายที่จับต้องได้ด้วยตาเปล่า แต่นอกจากสิ่งนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เขาได้รับจากมัน

นักเขียนคือนักวิ่งคนหนึ่ง

“ฮารุกิ มุราคามิ คือ นักเขียนในคราบนักวิ่ง” หรือ “ฮารุกิ มุราคามิ คือนักวิ่งในคราบนักเขียน” ไม่ว่าคุณจะจำกัดความผู้ชายคนนี้ไว้อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเขาเชี่ยวชาญมันทั้งสองอย่าง และใช้เวลาอยู่กับมันมามากกว่าครึ่งชีวิต จนค้นพบว่า “การเขียนกับการวิ่งนั้นมีหลายสิ่งที่เหมือนกัน”


การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีสามสิ่ง พรสวรรค์, สมาธิ, และความขยันหมั่นเพียร เช่นเดียวกับการวิ่ง ที่ถึงแม้คุณอาจจะไม่มีพรสวรรค์ แต่สิ่งที่ทดแทนได้คือพรแสวงจากการฝึกซ้อม สมาธิคืออีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องมี การเขียนหนังสือนั้นคุณต้องจดจ่ออยู่กับความคิดตัวเองวันละหลายชั่วโมง เหมือนกับการวิ่งที่ระหว่างทางสิ่งเดียวที่อยู่กับคุณคือตัวคุณเอง คุณไม่ได้เอาชนะใคร แต่เอาชนะตัวเอง นอกจากนั้นความขยันหมั่นเพียรคือสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ นักเขียนเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว คุณต้องตื่นมาทำแบบเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน จมอยู่กับจินตนาการของตัวเอง ถ้าไม่ขยันมากพออาจจะถอดใจยอมแพ้ไปได้ง่าย ๆ การวิ่งก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกช่วงเวลาคือความสนุก ช่วงเวลาแห่งความน่าเบื่อและทรมานก็มีมากไม่แพ้กัน แต่ความขยันไม่ยอมแพ้กับใจตัวเองคือสิ่งที่จะทำให้คุณผ่านมันไปได้

นอกจากนั้นช่วงเวลาที่กำลังทะยานเข้าเส้นชัยกับตอนที่กำลังเขียนบรรทัดสุดท้ายของหนังสือแต่ละเล่มก็ให้ความรู้สึกที่เหมือนกัน มันคือช่วงเวลาที่สุดยอดยากเกินจะอธิบาย โดยสิ่งเหล่านี้มุราคามิได้เล่าไว้ในหนังสือ “What I Talk About When I Talk About Running” บันทึกเรื่องราวที่เขาค้นพบบนก้าววิ่ง

“การวิ่งช่วยให้ผมเป็นนักเขียนที่ดียิ่งขึ้น บางครั้งเวลาผมเขียนหนังสือติดต่อกันนาน ๆ เหมือนกับว่าผมจมลงไปกับจินตนาการด้านมืดของตัวเอง แต่การวิ่งนี่แหละช่วยดึงผมขึ้นมา”

มุราคามิบอกว่าเขาตั้งใจจะวิ่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันที่ร่างกายของเขาจะไม่ไหวจริง ๆ เพราะตอนนี้การวิ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาไปอย่างสมบูรณ์แล้ว

“ถ้าผมตายผมอยากให้สลักที่หลุมศพผมไว้ว่า ‘อย่างน้อยผมก็ไม่เคยเดิน’” มุราคามิกล่าวติดตลก

 

 

คลิกเลย >>> UFABETWINS

อ่านข่าวอื่นๆที่ >>> https://www.printprice.net/