“คนเตะฟรีคิกเท้าซ้ายที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ เปแอสเช (หมายถึง ลิโอเนล เมสซี่) แต่ถ้าคนเตะฟรีคิกเท้าขวาได้ดีที่สุดในโลก ผมคิดว่าคนๆนั้นคือ เจมส์ วอร์ด-เพราส์”
โธมัส แฟรงค์ กุนซือของ เบรนท์ฟอร์ด พยายามจะอธิบายถึงความอันตรายของฟรีคิกจากเท้าขวาของ เจมส์ วอร์ด-เพราส์ กัปตันทีมของ เซาธ์แฮมป์ตัน ซึ่งตอนนี้หลายคงก็เห็นด้วยและไม่ขัดข้องกับคำยกย่องนี้
ตอนนี้มีเพียง เดวิด เบ็คแฮม เท่านั้นที่ยิงฟรีคิกเป็นประตูมากกว่า วอร์ด-เพราส์.. คำถามคือในช่วงเวลาสั้นๆแค่ไม่กี่ปี ประตูจากฟรีคิกของเขาไหลมาเทมาได้อย่างไร?
ติดตามเรื่องราวของสุดยอดฟรีคิกเทคเกอร์อันดับ 1 ของพรีเมียร์ลีก
จะเอา!
ที่แดนใต้ของประเทศอังกฤษมีคู่ปรับที่เป็นคู่รักคู่แค้นในวงการฟุตบอลอยู่ 1 คู่ มันคือเรื่องราวของสองสโมสรที่ชิงความเป็นหนึ่งของแดนใต้และเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าที่สุดแล้วสโมสรใดยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือคู่ระหว่าง เซาธ์แฮมป์ตัน และ พอร์ทสมัธ
เจมส์ วอร์ด-เพราส์ อาจจะเป็นกัปตันทีมของ เซาธ์แฮมป์ตัน ในเวลานี้ แต่เรื่องจริงคือครอบครัวของเขาเป็นแฟนบอลตัวยงของ พอร์ทสมัธ และตระกูล วอร์ด-เพราส์ ถือตั๋วปีของสโมสรมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว เพียงแต่ว่าการส่งต่อทีมรักต้องมาสิ้นสุดลงเอาเมื่อ เจมส์ วอร์ด-เพราส์ ไม่ได้มีความฝันจะเป็นแค่กองเชียร์เท่านั้น แต่เพราะเขาอยากจะเป็นนักเตะอาชีพต่างหาก
ตอนอายุ 7 ขวบ เขาอาจจะเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจังด้วยการเป็นนักเตะในทีมอคาเดมีของ พอร์ทสมัธ และลงเล่นให้กับทีมรุ่นอายุไม่เกิน 9 ขวบ แต่ตลาดการแย่งชิงตัวนักฟุตบอลตั้งแต่วัยเด็กที่อังกฤษนั้นเข้มข้นเสมอ เหล่าแมวมองตามไปทุกสนามแม้กระทั่งบอลเด็กรุ่นราวขนาดนี้ และจากจุดนี้เอง เจมส์ วอร์ด-เพราส์ ก็ไปกระทบตาถูกใจแมวมองของสโมสรเซาธ์แฮมป์ตัน และจากนั้นการเป็นขบถลูกหนังตั้งแต่ 8 ขวบของ วอร์ด-เพราส์ ก็เริ่มขึ้น
เรื่องนี้ถูกย้อนความหลังโดย เดฟ ฮิลล์ ผู้ดูแลทีมระดับอคาเดมีของ พอร์ทสมัธ ที่เล่าว่าแม้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอล เซาธ์แฮมป์ตัน และ พอร์ทสมัธ จะถูดจดจำในฐานะคู่รักคู่แค้น แต่เขาเองนี่แหละที่มองข้ามเรื่องเหล่านั้นไป และเป็นคนบอกกับพ่อของ เจมส์ วอร์ด-เพราส์ ว่าการส่งลูกชายไปอยู่กับอคาเดมีของ เซาธ์แฮมป์ตัน จะเป็นผลดีต่ออนาคตเด็กมากกว่า
“วันหนึ่งพ่อของ เจมส์ มาคุยกับผมว่า การตัดสินใจที่ยากที่สุดของเขามาถึงแล้ว เจมส์ จะต้องเลือกระหว่าง ปอมปีย์ (พอร์ทสมัธ) หรือ เซนต์ส (เซาธ์แฮมป์ตัน) ผมควรจะส่งเขาไปอยู่ทีมไหนดี?.. ผมเลยตอบเขาไปว่า ไปที่เซาธ์แฮมป์ตันเถอะ” ผู้ดูแลทีมอคาเดมี กล่าว
“ผมไม่ชอบหรอกนะที่จะพูดอะไรออกไปแบบนั้น แต่มันก็เพื่อประโยชน์ของเด็กเอง นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเขาไปที่นั่นมันจะดีต่อเขาแน่นอน”
หากถามว่าอะไรที่ทำให้ทั้ง 2 ทีมต้องแย่งตัว วอร์ด-เพราส์ ตั้งแต่อายุยังน้อย คำตอบก็คือเด็กคนนี้มีความต้องการที่ชัดเจน เขาไม่ได้มีเป้าหมายแค่อยากจะเป็นนักเตะอาชีพทั่วไป แต่เขาอยากจะยิ่งใหญ่ให้เหมือนกับที่ เดวิด เบ็คแฮม เป็น..
และหากถามต่อว่าเขาอยากเหมือนเบ็คแฮมตรงไหน? วอร์ด-เพราส์ ตอบเรื่องนี้เองว่า “ทุกตรง” โด่งดัง มุ่งมั่น มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม และสิ่งที่ทำให้เขาคิดว่า เบ็คแฮม เท่ระเบิดที่สุดในสายตาเขาคือการยิงลูกนิ่งที่แม่นเหมือนจับวาง ซึ่งจุดนี้ วอร์ด-เพราส์ ฝึกมันมาตั้งแต่ 8 ขวบแล้ว
“สำหรับเด็กทั่วไป แค่ยิงให้ข้ามกำแพงก็ดีใจกันแล้ว แต่สำหรับ เจมส์ หมอนี่มันต้องเอาให้ได้เหมือนเบ็คแฮม” ฮิลล์ ว่าถึง วอร์ด-เพราส์ ในวัยนั้น
เลียนแบบทุกอย่างทำไมไม่เหมือน?
สาหรับ เดวิด เบ็คแฮม นั้นคือชายผู้ก้าวข้ามโลกฟุตบอลไปแล้ว ในช่วงยุค 90s นี่คือนักเตะที่แม้แต่คนที่ไม่ดูบอลก็ยังรู้จักและคุ้นชื่อในแง่ของความหล่อเท่และเป็นนักกีฬาระดับแถวหน้าของโลก แต่สำหรับคนที่ดูฟุตบอลอย่างจริงจัง ไม่มีใครที่จะอดชื่นชมลูกฟรีคิกที่แม่นเหมือนจับวางของเขาได้
“เบ็คแฮม คือคนเดียวที่ผมมองมาตลอด ไม่ใช่แค่ฟรีคิกที่แม่นยำแต่ภาพลักษณ์โดยรวมของเขาด้วย ผมพยายามลอกเลียนแบบเขามาตลอดตั้งแต่จำความได้ ผมก็อปปี้ทุกทรงผมที่เบ็คแฮมเคยทำ ผมอยากได้รองเท้าสตั๊ดแบบที่เขาใส่ ผมอยากใส่เสื้อหมายเลข 7 นี่คือคนๆเดียวที่ไม่ว่าผมจะมองเขากี่ครั้งผมก็ต้องบอกกับตัวเองว่า ว้าว.. คนๆนี้มีอิมแพ็กต์กับผมเหลือเกิน และเขาคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมลองหัดเตะฟรีคิกตั้งแต่จำความได้” วอร์ด-เพราส์ เล่าถึงมุมมองที่เขาที่มีต่อ เดวิด เบ็คแฮม
ฟรีคิกคือสิ่งที่ วอร์ด-เพราส์ ทำได้ดีมาตลอดตั้งแต่เล่นอยู่ในรุ่นเยาวชน แต่สุดท้ายมันก็ยังเป็นแค่ระดับเยาวชนเท่านั้น สิ่งที่ทำให้เขายังเลียนแบบเบ็คแฮมไม่ได้สักทีคือเรื่องของความแน่นอนและการหวังผลได้สูงสุด วอร์ด-เพราส์ เล่าว่าสมัยยังเล่นในระดับเยาวชน เขาอาจจะยิงฟรีคิกเข้าบ่อยพอสมควร แต่บางครั้งการยิงของเขามันก็ไม่ได้ลุ้นหลุดออกกรอบไปไกล เช่นเดียวกับการครอสที่บางครั้งก็แม่นระดับลงหัวคนโหม่งได้ทำประตูง่ายๆ แต่บางจังหวะกลับเปิดเลยไปไกลแบบไร้เป้าหมาย
สิ่งที่แตกต่างที่ วอร์ด-เพราส์ คิดว่าเขาต่างกับเบ็คแฮมในเรื่องของลูกนิ่ง คือในขณะที่เบ็คแฮมวางบอลยังไงก็เข้าเป้า เตะฟรีคิกยังไงก็ได้ ทำไมเขาจึงทำเหมือนกันไม่ได้ ทั้งๆที่เขาพยายามก็อปแทบทุกอย่างที่เบ็คแฮมทำแล้วแท้ๆ
อย่างไรก็ตาม การมาอยู่กับ เซาธ์แฮมป์ตัน ก็ถือเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะที่นี่คือสโมสรที่ให้โอกาสดาวรุ่งจากอคาเดมีประเดิมสนามเสมอเมื่อถึงเวลา วอร์ด-เพราส์ เก่งในระดับหนึ่งตลอดช่วงการเป็นนักเตะเยาวชน เขาเป็นตัวหลักของทีมต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี จนกระทั่งได้โอกาสลงสนามในเกมระดับอาชีพครั้งแรกด้วยวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น
การก้าวสู่โลกของผู้ใหญ่ทำให้เขาค้นพบบางอย่าง นอกจากประสบการณ์ในเกมระดับสูงที่จะทำให้เขาเป็นนักเตะที่ดีขึ้นได้ วอร์ด-เพราส์ ยังถึงบางอ้อสำหรับคำถามที่เขาถามตัวเองมาตั้งแต่ยังเด็กว่าทำไมเขายังยิงฟรีคิกได้ไม่แม่นพอเท่าที่ตัวเองคิดอีกด้วย
กุญแจดอกแรกที่ช่วยให้ วอร์ด-เพราส์ ไขปริศนานี้ได้คือ “ร่างกายและหัวใจของเขายังอ่อนแอเกินไป”.. นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่เขาได้พบจุดอ่อนของตัวเองตอนอายุ 18 ปี การรู้เร็วทำให้เขาหาวิธีปรับจูนฟรีคิกในแบบของเขา และสุดท้ายเขาก็หาวิธีที่จะทำให้มันแม่นดั่งใจคิดได้แล้ว
ใจได้.. เดี๋ยวดีเอง
“ผมเป็นพวกกลัวการเข้าปะทะ แรกๆผมปรับตัวกับเกมของผู้ใหญ่ไม่ค่อยจะได้” วอร์ด-เพราส์ เล่าถึงตัวเองตอนอายุ 18 ปี
เขาอาจจะหาคำตอบของคำถามที่เขาตั้งไว้กับตัวเองเจอแล้ว แต่ปัญหาคือเขายังไม่รู้จะทำยังไง เขารู้ว่าเขาต้องเข้มแข็งกล้าหาญกว่านี้.. แต่มันต้องทำอย่างไรล่ะเขาจึงจะแกร่งขึ้นได้ทั้งร่างกายและจิตใจแบบที่หวัง?
ตอนนั้นถือเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ ณ เวลานั้น เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ถูกแต่งตั้งมาคุมทีม เซาธ์แฮมป์ตัน พอดี กุนซือชาวอาร์เจนไตน์ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักเตะวัยรุ่น ทำงานกับนักเตะอายุน้อยได้ดี และนั่นคือสิ่งที่ วอร์ด-เพราส์ ต้องการ เขาพร้อมที่จะทำตามอยู่แล้ว ขอแค่มีใครมาบอกเขาว่า “ต้องทำอะไร” จึงจะเป็นนักเตะที่ดีขึ้นได้
“โปเช็ตติโน่ เข้ามาและปลูกฝังความก้าวร้าวให้กับพวกเราทุกคนในทีม เราไม่ต้องกลัวใครทั้งนั้นถ้าเราเล่นกันได้อย่างถูกวิธีและวางทัศนคติที่ห้าวเป้งให้กับทุกคน เขาทำให้พวกเราเชื่อว่าเราจะต้องรู้หน้าที่ของตัวเองในตอนที่ไม่มีบอล และไม่กลัวที่จะวิ่งเข้าใส่เพื่อแย่งเอาบอลคืน หากเราทำได้เราก็ไม่ต้องกลัวทีมไหนทั้งนั้น เราจะเล่นแบบนี้โดยไม่เปลี่ยนแนวทางไม่ว่าจะเผชิญกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือทีมจากนอกลีกก็ตาม”
การฝึกเตะฟรีคิกอย่างเดียวไม่ได้ช่วยทำให้นักเตะคนหนึ่งมีความสำคัญในแบบที่ทีมขาดไม่ได้ วอร์ด-เพราส์ เองถูกสอนเรื่องนี้เพิ่มเติมในยุคของ โปเช็ตติโน่ หน้าที่ของกองกลางไม่ใช่การคอยยิงฟรีคิกหรือเตะมุม แต่กองกลางจะมีอิมแพ็กต์ต่อเกมมากที่สุดก็ต่อเมื่อพวกเขามีความแม่นยำในการรับและส่งบอลต่างหาก
จากนั้นเท้าขวาของ วอร์ด-เพราส์ ก็มีอันตรายรอบด้านขึ้น ในฤดูกาล 2013-14 เขากลายเป็นนักเตะที่มีสถิติส่งบอลแม่นยำที่สุดในทีมนักบุญแดนใต้ ขณะเดียวกันร่างกายของเขาก็หนาขึ้นมาเยอะจากการกินและการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ
สิ่งที่ตามมาจากการปรับจูนในยุคโปเช็ตติโน่ของ วอร์ด-เพราส์ คือประสิทธิภาพในลูกตั้งเตะที่เพิ่มขึ้น อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่ยิงเป็นเข้า แต่การเตะมุมหรือการเล่นฟรีคิกแบบโยนให้แนวรุกไปจบสกอร์ซึ่งเป็นแนวทางหลักของทีมในเวลานั้น เรียกได้ว่าในฤดูกาลดังกล่าวกองหน้าของทีมอย่าง เจย์ โรดริเกซ และ ริคกี้ แลมเบิร์ต ได้ประโยชน์จากการพัฒนาของ วอร์ด-เพราส์ ไม่น้อยเลยทีเดียว
กลับมาสู่โหมดสร้างอาวุธลับ
วอร์ด-เพราส์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะตัวหลักของทีมตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 นี่คือนักเตะแดนกลางที่พัฒนาตัวเองอย่างชัดเจนทั้งในเกมรุกและเกมรับ เขามีพลังที่วิ่งขึ้นลงได้ทั้งเกม และมีกำลังขามากพอที่จะเล่นลูกตั้งเตะให้หวังผลได้ตลอดเหมือนที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
เรื่องดังกล่าวมันเหมือนกับการที่เขากลับไปสู่พื้นฐานในตอนแรก เขาต้องเลิกโฟกัสกับการยิงฟรีคิก แต่ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองกลายเป็นนักเตะที่มีประโยชน์กับทีมมากที่สุด และเมื่อเขาไปพัฒนาเรื่องความขยัน ความห้าว การเข้าใจจังหวะของเกม และการส่งบอล เมื่อเขามีทักษะพื้นฐานของแดนกลางในแบบที่ควรทำได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะกลับไปไต่บันไดที่ตัวเองหวังจะเป็นมาตลอดนั่นคือการเตะฟรีคิกให้ได้เหมือนเบ็คแฮม.. เมื่อพื้นฐานแข็งแกร่ง โจทย์ต่อไปคือการสร้างอาวุธลับ
ตอนเด็กๆ เขาพยายามจะทำทุกอย่างให้เหมือนกับเบ็คแฮม จัดแจงท่ายิงฟรีคิกเหมือนที่เบ็คแฮมทำ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่มีทางก็อปปี้กันได้ มนุษย์เราล้วนมีความแตกต่าง โดยเฉพาะด้านสรีระร่างกาย การที่เบ็คแฮมตั้งท่ายิงฟรีคิกที่เป็นเอกลักษณ์แบบนั้นมันอาจจะเวิร์กสำหรับเขา แต่สำหรับคนที่เลียนแบบมันยากที่จะได้ลูกยิงชนิดเดียวกัน พุ่งเหมือนกัน เข้าเหมือนประตูเหมือนกันแน่นอน
ท่ายิงของ เบ็คแฮม เป็นอย่างไร เขามีวิธีแบบไหนน่ะเหรอ?.. วิธีการยิงของเขาจะเริ่มจากการวางบอล แล้วถอยออกไปราว 6-7 ก้าว จากนั้นจะจัดตัวเองให้ยืนเฉียงเป็นมุม 45 องศา และจะวิ่งเข้าหาบอลจากองศานี้เท่านั้น
ในจังหวะที่วิ่งเข้าหาบอลเขาจะไม่ใช้ความเร็วมาก และวางเท้าข้างไม่ถนัดให้ห่างจากบอลราว 5-6 นิ้ว ซึ่งในเวลาดังกล่าวเขาจะเหวี่ยงแขนข้างไม่ถนัดเป็นวงกลมเพื่อช่วยเพิ่มแรง โดยยืดแขนออกไปด้านหน้าก่อนแล้วค่อยวาดแขนกลับมาด้านหลังตอนที่เท้าสัมผัสกับบอล
ส่วนตอนที่เท้าโดนบอล เขาจะบิดตัวเล็กน้อยเพื่อทำให้บอลลอยสูง และใช้ข้างเท้าด้านในสัมผัสบอลเท่านั้น จากนั้นเมื่อเตะบอลออกไปแล้วจะปล่อยให้เท้าเคลื่อนตามลูกบอล ส่วนเข่าจะหยุดการเคลื่อนไหว ในขณะที่ไหล่และหลังจะเอียงไปด้านหลัง และเมื่อลดแขนต่ำลงก็จะสิ้นสุดกระบวนการ.. จากนั้นบอลก็จะปั่นไซด์โค้งในแบบที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกคุ้นตากัน
วอร์ด-เพราส์ เลียนแบบเบ็คแฮมในแง่ของท่าทางไม่ได้ แต่เขาก็เชื่อว่าจะหาผลลัพธ์ที่เหมือนกันได้ นั่นคือสุดท้ายแล้วบอลจะต้องไปอยู่ที่ก้นตาข่าย เขาจึงคิดวิธียิงที่เหมาะกับตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยเอาท่าทางที่เคยเลียนแบบเบ็คแฮมมาตลอดชีวิตมาปรับเพื่อให้ได้สไตล์ที่เหมาะกับสรีระและการยิงในแบบของตัวเองที่สุด
“ผมได้ยินคนพูดบ่อยจนนับครั้งไม่ถ้วนว่าผมกับเบ็คแฮมมีท่ายิงฟรีคิกที่คล้ายกันและใช้เทคนิคเดียวกัน แต่จริงๆแล้วมันมีความแตกต่างกันพอสมควรเลย” วอร์ด-เพราส์ กล่าว
เขาอธิบายต่อว่ามีจุดแตกต่างกันระหว่างฟรีคิกของเบ็คแฮมหลักๆที่ชัดเจน แบ่งเป็น 2 ข้อ ได้แก่
1. เบ็คแฮมจะเหวี่ยงแขนข้างไม่ถนัดเป็นวงกลมเพื่อช่วยเพิ่มแรง แต่ตัวของ วอร์ด เพราส์ นั้นไม่ทำ เขาจะใช้การงอตัวในจังหวะที่เท้าขวาโดนบอลแทน แล้วเอาแขนค้างไว้แบบนั้น
2. ขณะที่เบ็คแฮมวางเท้าหลักติดพื้น หัวเข่าของขาซ้ายหยุดการเคลื่อนไหวเหมือนกับการเอาขาซ้ายปักไว้ที่พื้นสนาม และปล่อยเท้าขวาข้างที่เตะฟอลโลว์ไปตามลูกฟุตบอลที่ออกจากเท้า วอร์ด-เพราส์ กลับเลือกใช้วิธีแบบกระโดดเพื่อบังคับทิศทางของลูกฟุตบอล
นั่นคือวิธีการยิงในสไตล์ของ วอร์ด-เพราส์ แบบที่เขาพยายามปรับปรุงการยิงของตัวเองมาตลอด เขาอธิบายว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือคิดขึ้นมามั่วๆ แต่มันเกิดจากการซ้อมแล้วซ้อมอีก ยิ่งผมพยายามพัฒนาเทคนิคการยิงของตัวเองมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งมีโอกาสเจอวิธียิงประตูที่เหมาะกับตัวเองเท่านั้น”
“ผมเชื่อใจในความจำของกล้ามเนื้อ ยิ่งผมฝึกบ่อยเท่าไหร่ ร่างกายของผมก็จดจำท่ายิงที่ถูกต้องในแบบของผมได้มากเท่านั้น ทุกคนล้วนแต่มีท่าทางและวิธีใช้กล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน แบบเดียวกับ เบ็คแฮม ที่ฝึกยิงฟรีคิกในแบบของเขา แบบที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็ฝึกแบ็กแฮนด์ด้วยวิธีของเขา.. ผมเองเชื่อมั่นในเทคนิคของตัวเอง ถ้าผมสามารถวางบอลในแบบที่ผมต้องการ และทำได้เหมือนกับตอนที่ฝึกซ้อม เมื่อนั้นก็จะไม่มีผู้รักษาประตูคนไหนเซฟได้แน่นอน” วอร์ด-เพราส์ กล่าวอย่างมั่นใจ
ท้ายที่สุดคือการควบคุมจิตใจให้นิ่งและแข็งแกร่งพอเมื่อถึงสถานการณ์จริง ในเกมการแข่งขันที่คนดูเต็มความจุของสนาม เมื่อได้โอกาสยิงฟรีคิกในระยะที่หวังผลทำประตูโดยตรงได้ ทุกสนามจะเป็นเหมือนกันหมด เสียงของทุกคนจะเงียบลง ทุกคนจะตั้งสมาธิจับตาดูชายผู้ยืนอยู่หลังลูกฟุตบอลว่าจะยิงประตูนั้นสำเร็จหรือไม่ ซึ่ง วอร์ด-เพราส์ บอกว่าจังหวะ “เกมค้าง” นี่แหละที่เขาต้องรักษาสติของตัวเองไว้ให้ดี ตัดความกดดันออกไปให้หมด และทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้เป็นประจำ
“ผมว่าผมเข้าใจเบ็คแฮมขึ้นไม่มากก็น้อยในตอนที่เขายิงฟรีคิก แค่เขาตั้งบอลในจังหวะลูกนิ่ง ทุกสายตาจะจ้องมาที่เขา ทุกคนคาดหวังว่าลูกนี้มันจะต้องเข้าแน่ๆ นั่นคือช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับใจตัวเอง ผมเรียกมันว่า -ความเงียบที่สมบูรณ์แบบ-” วอร์ด เพราส์ กล่าว
ซ้อมมากพอ กำลังขามากพอ สภาพจิตใจแข็งแกร่งพอ ที่สุดแล้วฟรีก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา.. ทุกวันนี้ วอร์ด-เพราส์ กลายเป็นกองกลางที่ทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเกมรุกหรือเกมรับ แต่สุดแล้วลูกยิงฟรีคิกคือสิ่งที่ทุกคนจดจำเขาได้เป็นที่เรียบร้อย.. แม้ไม่ถึงระดับเบ็คแฮม แต่แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้เขาถูกเรียกว่า “เทพเจ้าลูกนิ่ง” ของยุคนี้อีก 1 คนอย่างแน่นอน